Amblyopia เป็นคำที่มาจากภาษากรีก แปลว่า “Dimness or Dullness of Vision” หรือที่เรียกว่า Lazy Eye หรือตาขี้เกียจ หมายถึง ระดับสายตา (Visual Acuity) ลดลงแม้จะแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติ (Refractive errors) แล้ว โดยไม่มีความผิดปกติทางตาหรือสมองที่เกี่ยวกับการมองเห็น หรือกรณีที่มีความผิดปกตินั้นไม่สามารถอธิบายระดับการมองเห็นที่ลดลงได้ หรือพูดง่ายๆคือ ตามองไม่ชัดเท่าคนปกติ แต่ไม่ได้เกิดจากโรคตา หรือสมอง นั่นเอง

"หมอปู้" ณพล สุทธิเดชานัย นักทัศนมาตรประจำร้านและเจ้าของร้านแว่นตา OPTICLAND

ก่อนจะพูดถึงสาเหตุของตาขี้เกียจ จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ระบบการมองเห็นของเด็กแรกเกิด จะยังมีการพัฒนาที่ไม่สมบูรณ์เต็มที่ โดยการพัฒนาการมองเห็นเริ่มตั้งแต่แรกคลอดจนกระทั้งอายุประมาณ 8-10 ปี การพัฒนาการมองเห็นมีทั้งการพัฒนาของตา เส้นประสาทตา จนไปถึงสมองส่วนการมองเห็น (visual cortex) ซึ่งปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาการมองเห็นได้สมบูรณ์ คือ สัญญาณภาพที่ชัด ที่ถูกส่งมาจากตาทั้งสองข้าง แต่ถ้าสัญญาณภาพถูกขัดขวาง บดบัง หรือสัญญาณภาพไม่สัมพันธ์กัน ก็จะมีผลทำให้การพัฒนาการมองเห็นไม่สมบูรณ์ได้ และนำไปสู่ภาวะตาขี้เกียจ (Amblyopia) ในที่สุด

สาเหตุของตาขี้เกียจ

  1. ตาเขหรือตาเหล่ (Strabismic amblyopia)

    มนุษย์มองเห็นด้วยสมอง โดยสมองเป็นตัวประมวลผลสัญญาณภาพที่ถูกส่งมาจากตาสองข้าง โดยภาพจากตาทั้งสองข้างจะต้องมีความสัมพันธ์กัน หรือเป็นภาพเดียวกัน จึงจะมองเห็นได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งภาวะตาเข จะทำสัญญาณภาพที่ได้จากตาทั้งสองข้าง ไม่เหมือนกัน ในเด็กเล็กที่ยังมีการพัฒนาการมองเห็นอยู่ สมองจะทำการลดสัญญาณภาพจากตาข้างที่เข เพื่อป้องกันการเห็นภาพซ้อน จึงนำมาสู่ภาวะตาขี้เกียจในที่สุด

    โดยภาวะตาเข ถ้าเกิดในคนที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป ที่มีการพัฒนาการมองเห็นสมบูรณ์แล้ว จะมีการเห็นภาพซ้อน แต่จะไม่ทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจแต่อย่างใด
  2. ค่าสายตาผิดปกติ (Refractive amblyopia)
    สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทดังนี้
    • Anisometropic amblyopia เกิดจากสายตาสองข้างต่างกันมากๆ ทำให้สมองเลือกที่จะตัดสัญญาณภาพจาก ตาข้างที่มีค่าสายตามากกว่า ทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจในตาข้างที่มีค่าสายตามากกว่า โดยตาขี้เกียจชนิดนี้ สามารถคัดกรองโดยการตรวจสายตาอย่างละเอียดโดยนักทัศนมาตรหรือจักษุแพทย์เท่านั้น เนื่องจากเด็กจะไม่มีอาการเลย เมื่อสังเกตจากภายนอก
    • Isometropic amblyopia เกิดจากภาวะสายตาผิดปกติมากๆทั้งสองข้าง ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น สายตาเอียง หรือสายตายาว ทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจที่ตาทั้งสองข้าง
  3. ภาวะที่มีการบดบังการมองเห็น​ (Visual Deprivation amblyopia)

    เกิดจากภาวะที่มีการบดบังการมองเห็นในตาข้างใดข้างหนึ่ง โดยส่วนใหญ่เกิดจากภาวะต้อกระจกในเด็ก หนังตาตก หรือภาวะกระจกตาขุ่นดำ

การรักษา

การรักษาภาวะตาขี้เกียจ จะมีโอกาสทำให้เด็กกลับมามองเห็นปกติได้ ถ้าได้รับการตรวจและวินิจฉัย ก่อนอายุ 8 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่การมองเห็นยังมีการพัฒนาอยู่ โดยโอกาสในการรักษาหายจะน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อเด็กอายุมากขึ้น

โดยหลักการการรักษา มีดังนี้

  • การรักษาให้การมองเห็นเป็นปกติ โดยการใช้เลนส์สายตา หรือคอนแทคเลนส์
  • การผ่าตัดแก้ไขการบดบังการมองเห็น ในกรณีที่เป็นต้อกระจก หรือหนังตาตก
  • การทำให้การทำงานร่วมกันของสองตาเป็นปกติ โดยการผ่าตัดแก้ไขตาเข หรือการใช้เลนส์ปริซึมเพื่อช่วยในการรวมภาพ
  • การกระตุ้นการมองเห็นในตาข้างที่มีภาวะตาขี้เกียจ โดยการปิดตาข้างที่ดี โดยรูปแบบในการปิดตา จะขึ้นอยู่กับ ระดับความรุนแรงของภาวะตาขี้เกียจ ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของจักษุแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะถ้าปิดตาข้างที่ดีนานเกินไป ก็อาจจะเกิดภาวะ Reverse amblyopia หรือภาวะตาขี้เกียจในตาข้างที่ดีได้อีก

กล่าวโดยสรุป ภาวะตาขี้เกียจ ส่วนใหญ่จะสามารถรักษาให้หายได้เป็นปกติ ถ้าสามารถตรวจเจอได้ก่อนอายุ 8 ปี ดังนั้นในเด็กเล็ก ควรได้รับการตรวจสายตาจากนักทัศนมาตรหรือจักษุแพทย์ เป็นประจำทุกปี เพื่อคัดกรองภาวะตาขี้เกียจในเด็ก

บทความโดย "หมอปู้" ณพล สุทธิเดชานัย

นักทัศนมาตรประจำร้านแว่นตา OPTICLAND

เข้ารับการวัดสายตาและตัดแว่นโดยนักทัศนมาตรและผู้เชี่ยวชาญด้านสายตา
กรุณาทำการนัดหมายเข้ามาผ่านช่องทางใดก็ได้ดังนี้ :
🔵 Inbox 👉 m.me/opticland29
🟢 Line OA 👉 http://nav.cx/fsJAVBY หรือโทร 02 259 9158