เลนส์ตัดแสงสีน้ำเงินจำเป็นจริงไหม ? โดยหมอปู้ นักทัศนมาตรและเจ้าของร้านแว่นตา OPTICLAND
เลนส์ตัดแสงสีน้ำเงิน จำเป็นหรือไม่ ? เราต้องรู้ก่อนว่า แสงสีน้ำเงินคืออะไร และมีอันตรายจริงหรือไม่ ?
แสงสีน้ำเงิน คืออะไร ?
Visible light หรือแสงขาว จัดเป็น คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electro Magnetic Radiation : EMR) ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีช่วงคลื่นความถี่ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าได้ (ม่วง - แดง ) 400-700nm แสงสีน้ำเงินจะมีคลื่นความถี่อยู่ระหว่าง 380-500 nm ซึ่งจัดเป็นช่วงคลื่นที่มีความยาวคลื่นสั้น ความถี่สูง และพลังงานสูง สามารถทะลุทะลวงผ่านเนื้อเยื่อต่างๆในตา ได้มากกว่าคลื่นแสงสีอื่นๆ แหล่งกำเนิดแสงสีฟ้ามาจาก อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทั้งจอโทรศัพท์มือถือ,คอมพิวเตอร์และโทรทัศน์ มี LED เป็นแหล่งกำเนิดของแสง ซึ่งมีแสงสีฟ้าด้วย นอกจากนี้ยังมีแสงสีฟ้าจากธรรมชาติอีกด้วย
แสงสีน้ำเงิน มีผลต่อวงจรการนอนหลับอย่างไร ?
ตอนกลางวันเมื่อเราเจอกับแสงแดด(ซึ่งมีแสงสีน้ำเงิน) จะทำให้มีการยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน ทำให้ร่างกายสดชื่นตื่นตัว และตอนกลางคืนเมื่อไม่เจอแสงแดด ร่างกายจะมีการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินออกมาเพื่อทำให้ร่างกาย alert น้อยลง และนอนหลับได้ การได้รับแสงสีฟ้าจะทำให้ร่างกายไม่หลั่งสารเมลาโทนิน ซึ่งเป็นสารที่ช่วยในการนอนหลับ ทำให้มีปัญหาเรื่องของการนอนหลับได้. แต่ปัจจุบันการศึกษายัง ไม่แน่ชัดว่ามีผลต่อคุณภาพการนอนหลับหรือไม่
อย่างไรก็ตาม แนะนำให้งดเล่นโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ เป็นเวลา 2-3 ชั่วโมงก่อนนอนเพื่อป้องกันปัญหาการนอนไม่หลับที่อาจเกิดขึ้นได้
แสงสีฟ้ากับภาวะจอประสาทตาเสื่อม
ในสัตว์ทดลองพบว่าแสงสีน้ำเงินความเข้มสูงทำให้มีความเสียหายระดับเซลล์จอตาได้ แต่ในชีวิตจริง ปริมาณแสงสีฟ้าที่ผ่านไปถึงจอตาเหลือปริมาณน้อยมาก โดยเมื่ออายุมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางกายวิภาคของตาจะยอมให้แสงสีน้ำเงินผ่านได้ลดลง จากการวิจัยพบว่าคนที่อายุมากกว่า 25 ปีจะมีปริมาณแสงสีน้ำเงินผ่านไปถึงจอประสาทตาเพียง 20% ขณะที่ในเด็ก แสงสีน้ำเงินจะผ่านไปที่จอตาได้มากกว่าผู้ใหญ่ แต่ในจอประสาทตาของเด็กก็มีเม็ดสี Lipofuscin ที่จับกับแสงสีน้ำเงินน้อยกว่าผู้ใหญ่เช่นกัน ทำให้ในจอประสาทตาเด็กจะมีความ Sensitive กับแสงสีน้ำเงินน้อยกว่าผู้ใหญ่ อีกทั้งยังไม่มีงานวิจัยใดๆ ที่บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม (Macular Degeneration) กับอันตรายจากแสงสีน้ำเงิน
โดยปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม มาจาก อายุ การสูบบุหรี่ ปริมาณไขมันในเลือด โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดและเบาหวาน ที่มีงานวิจัยบ่งชี้ถึงความเสี่ยงจากโรคต่างๆเหล่านี้ ต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมมากกว่า
หลักการของเลนส์ตัดแสงสีน้ำเงิน
แสงสีน้ำเงินส่วนใหญ่ในท้องตลาดจะทำหน้าที่ สะท้อน หรือ ดูดซับ แสงสีน้ำเงิน โดยการใช้ โค้ตติ้งสีน้ำเงิน หรือ น้ำเงินอมม่วง เพื่อสะท้อนคลื่นแสงสีน้ำเงินไม่ให้ผ่านเลนส์ เมื่อการรับรู้ของตา ขาดสีน้ำเงิน จะทำให้สีเหลือง ซึ่งเป็นคู่สี (Opponent color) เด่นชัดขึ้นมา ทำให้เลนส์ตัดแสงสีน้ำเงินส่วนใหญ่เมื่อมองผ่านแล้วจะรู้สึกเหลืองๆ ซึ่งโทนสีดังกล่าวจะช่วยลดความสว่าง หรือ Contrast จากอุปกรณ์ดิจิตอล ทำให้รู้สึกสบายขึ้นเพราะปริมาณแสงลดลง แต่ไม่ได้แก้ที่สาเหตุหลัก ที่ทำให้เกิด อาการ Computer Vision Syndrome (CVS) หรือช่วยป้องกันการเสื่อมของจอประสาทตาแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม การที่แสงสีน้ำเงินโดนตัดออกไป จะมีผลทำให้ผู้สวมใส่อาจจะเห็นสีเพี้ยนไปได้
และยังไม่มี งานวิจัยรองรับ ว่า การใช้เลนส์ตัดแสงสีน้ำเงิน จะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากโรคทางจอประสาทตาได้ โดยมีเคสการฟ้องร้องเกิดขึ้นมากมายเกี่ยวกับ การ Mislead ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ในต่างประเทศ
การป้องกันภาวะ Digital Eye Strain หรือ อาการ Computer Vision Syndrome ที่ดีที่สุด คือ การทำ 20-20-20 นั่นก็คือ การพักสายตาทุกๆ 20 นาที เป็นเวลา 20 วินาที โดยการมองไปที่ไกลกว่า 20 ฟุต การสวมแว่นตัดแสงสีน้ำเงิน อาจจะช่วยในเรื่องการลดความสว่าง (Contrast) และการกระเจิงของแสงจากจออุปกรณ์ดิจิตอล แต่ไม่ได้ช่วยลดอาการปวดตาและไม่สบายตาจากการใช้อุปกรณ์เหล่านั้นเป็นเวลานาน
บทความโดย หมอปู้ ณพล สุทธิเดชานัย
นักทัศนมาตร และเจ้าของร้านแว่นตา OPTICLAND
ปรึกษาการปรับแต่งแว่นสายตากับผู้เชี่ยวชาญได้ที่ :
Inbox m.me/opticland29
Line OA http://nav.cx/fsJAVBY
พิเศษ! ส่วนลด ON-TOP 5% สำหรับลูกค้าทุกรายที่จองคิววัดสายตาและตัดแว่นกับทางร้าน
ผ่านช่องทาง LINE OA : @opticland.
Map: https://goo.gl/maps/uRLBZKJwJqv
Parking: Radison Blu (Sukhumvit27)
Website: www.opticland.com
Instagram: opticland.official